วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557



การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด


การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย  (Inductive  Method)
ความหมาย
 การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย คือ  กระบวนการที่ผู้สอนสอนจากรายละเอียดปลีกย่อย  หรือจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่  หรือกฎเกณฑ์  หลักการ  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุป  โดยการนำเอาตัวอย่างข้อมูล  เหตุการณ์  สถานการณ์หรือปรากฏการณ์  ที่มีหลักการแฝงอยู่มาให้ผู้เรียนศึกษา  สังเกต  ทดลอง  เปรียบเทียบหรือวิเคราะห์จนสามารถสรุปหลักการหรือกฎเกณฑ์ได้ด้วยตนเอง
วัตถุประสงค์
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสังเกต การคิดวิเคราะห์  ทำให้เกิดการเรียนรู้และสามารถสรุปหรือค้นคว้าหลักการ กฎเกณฑ์  ประเด็นสำคัญหรือความจริงได้ด้วยตนเอง
องค์ประกอบสำคัญ
  องค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยมีดังนี้ คือ
1          ตัวอย่างข้อมูล  สถานการณ์ เหตุการณ์หรือปากฎการณ์ ที่เป็นลักษณะย่อยๆของหลักการ แนวคิด  ทฤษฎีที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
2          การวิเคราะห์ตัวอย่าง ข้อมูล สถานการณ์ เหตุการณ์หรือปากฎการณ์ เพื่อสรุปเป็นหลักการ แนวคิด  ทฤษฎี ร่วมกัน
3          การสรุปหลักการแนวคิดทฤษฎีที่ได้จากการวิเคราะห์
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยมีขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.        ขั้นเตรียมการ  เป็นการเตรียมตัวผู้เรียน  ทบทวนความรู้เดิมหรือปูพื้นฐานความรู้2.       ขั้นเสนอตัวอย่าง  เป็นขั้นที่ผู้สอนนำเสนอตัวอย่างข้อมูล สถานการณ์  เหตุการณ์ปรากฏการณ์  หรือแนวคิดให้ผู้เรียนได้สังเกตลักษณะและคุณสมบัติของตัวอย่างเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบสรุปเป็นหลักการ  แนวคิด  หรือกฎเกณฑ์  ซึ่งการนำเสนอตัวอย่างควรเสนอหลายๆตัวอย่างให้มากพอที่ผู้เรียนสามารถสรุปเป็นหลักการหรือหลักเกณฑ์ต่างๆได้

3.             ขั้นเปรียบเทียบ  เป็นขั้นที่ผู้เรียนทำการสังเกต ค้นคว้า วิเคราะห์ รวบรวม เปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบในตัวอย่าง  แยกแยะข้อแตกต่าง  มองเห็นความสัมพันธ์ในรายละเอียดที่เหมือนกัน  ต่างกัน
ในขั้นนี้หากตัวอย่างที่ให้แก่ผู้เรียนเป็นตัวอย่างที่ดี  ครอบคลุมลักษณะหรือคุณสมบัติสำคัญๆของหลักการ  ทฤษฎีก็ย่อมจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาและวิเคราะห์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว  แต่หากผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ  ผู้สอนอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติม  หรือใช้วิธีกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดค้นต่อไป  โดยการตั้งคำถามกระตุ้นแต่ไม่ควรให้ในลักษณะบอกคำตอบ  เพราะวิธีสอนนี้มุ่งให้ผู้เรียนได้คิด  ทำความเข้าใจด้วยตนเอง  ควรให้ผู้เรียนได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์เป็นกลุ่มย่อย  เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  โดยเน้นให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วม  ในการอภิปรายกลุ่มอย่างทั่วถึง  และผู้สอนไม่ควรรีบร้อนหรือเร่งเร้าผู้เรียนจนเกินไป
4.             ขั้นกฎเกณฑ์  เป็นการให้ผู้เรียนนำข้อสังเกตต่างๆ  จากตัวอย่างมาสรุปเป็นหลักการ  กฎเกณฑ์หรือนิยามด้วยตัวผู้เรียนเอง
5.             ขั้นนำไปใช้  ในขั้นนี้ผู้สอนจะเตรียมตัวอย่าง ข้อมูล สถานการณ์ เหตุการณ์ ปรากฎการณ์ หรือความคิดใหม่ๆ  ที่หลากหลายมาให้ผู้เรียนใช้ในการฝึกความรู้  ข้อสรุปไปใช้ หรือ  ผู้สอนอาจให้โอกาสผู้เรียนช่วยกันยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผู้เรียนเองเปรียบเทียบก็ได้  เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน  และจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น  รวมทั้งเป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้เรียนว่าหลักการที่ได้รัยนั้น  สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาและทำแบบฝึกหัดได้หรือไม่หรือเป็นการประเมินว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่นั่นเอง
ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดีและข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย มีดังนี้
ข้อดี
1          เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความรู้ด้วยตนเองทำให้เกิดความเข้าใจและจดจำได้นาน
2           เป็นวิธีการที่ฝึกให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการสังเกต คิดวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ตามหลักตรรกศาสตร์และหลักวิทยาศาสตร์สรุปด้วยตนเองอย่างมีเหตุผลอันจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ซึ่งใช้ได้ดีกับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
3          เป็นวิธีการที่ผู้เรียนได้ทั้งเนื้อหาความรู้และกระบวนการซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆได้
ข้อจำกัด
1           เป็นวิธีการที่ใช้เวลาค่อนข้างมากอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
2            เป็นวิธีการที่อาศัยตัวอย่างที่ดีและผู้สอนต้องเข้าใจเทคนิควิธีสอนแบบนี้อย่างดี  ต้องมีการเตรียมการที่รัดกุม  ไม่ควรด่วนสรุปกฎเกณฑ์ต่างๆเสียเองจึงจะทำให้การสอนเกิดสัมฤทธิ์ผล
3            เป็นวิธีการที่อาศัยทักษะพื้นฐานในการคิดและการทำงานเป็นกลุ่มของผู้เรียน หากผู้เรียนขาดทักษะต่างๆ  การสอนนี้อาจไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

                    อ้างอิง      จากหนังสือ21วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด  พิมพ์ครั้งที่ 2                                                   โดย ดร.สุวิทย์ มูลคำ  และ ดร. อรทัย  มูลคำ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

.

.